Friday, 17 May 2024

ทางลาดอาคารจอดรถยนต์

หลายคนคงเคยขับรถในอาคารจอดรถที่มีทางลาดชันมากๆ จนช่วงหน้ารถครูดกับพื้นตอนลงทางลาด สาเหตุมาจากทางลาดนั้นมีความชัน มากเกินไป

แล้วทางลาดของอาคารจอดรถยนต์ควรจะใช้ตัวเลขไหนในการออกแบบ ?

จากประสบการณ์การทำงาน สถาปนิกส่วนใหญ่จะถูกสอนต่อๆกันมาว่าให้ใช้ Slope 1:8 หมายถึง ถ้าความสูง 1 เมตร ให้ใช้ความยาว 8 เมตร นั่นคือตัวเลข Magic Number ที่สอนต่อๆกันมา ซึ่งความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า มาจากหนังสือ Ernst and Peter Neufert Architect’s Data ซึ่งเปรียบเสมือนคัมภีร์ออกแบบของสถาปนิกเลยก็ว่าได้

ภาพอ้างอิง : Ernst and Peter Neufert Architect’s Data 3rd Edition หน้า 442

Ramp 12% หรือ ทางลาด 12% มันกลายเป็น 1:8 ได้ยังไง

ให้ใช้สูตรนี้ครับ

จากสูตร G=D/L x 100

Slope 12% ให้แทนค่า โดยสมมุติ D-1 เป็นสมการดังนี้

12 = 1/L x 100

คำนวณแล้ว L=8.33 ก็คือประมาณ 8 นั่นเอง

แล้วทำไม เราถึงเจออาคารที่ Slope มากๆ เต็มไปหมด ?

ตอบง่ายๆครับ เพราะกฎหมายอาคารของประเทศไทย ไม่ได้กำหนดทางลาดที่ 12% แต่กำหนดที่ 15%

(อ้างอิงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 2544 ข้อ 99 ทางลาดขึ้นลงสำหรับรถระหว่างชั้น ลาดชันได้ไม่เกินร้อยละ 15)

Slope 15% ให้แทนค่า โดยสมมุติ D-1 เป็นสมการดังนี้

15 = 1/L x 100

คำนวณแล้ว L=6.66 เท่านั้น

ระยะที่สั้นกว่า ทำให้เสียพื้นที่น้อยกว่า แต่แลกมาด้วยความลาดชันที่มากขึ้นและใช้งานยาก

ดังนั้นอาคารจอดรถ ที่สร้างตามกฏหมายกำหนดทางลาดขั้นต่ำ 15% จึงสามารถสร้างได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้งานได้ดีนั่นเอง

กฏหมายอาคารนั้น กำหนดค่าที่เป็นขั้นต่ำเอาไว้ให้ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องการงานออกแบบที่ใช้งานได้ดี ทันกับยุคสมัย สถาปนิกจึงไม่สามารถยึดตัวบทกฏหมายเป็นบรรทัดฐานของงานออกแบบได้เพียงอย่างเดียว