ก่อนจะเรียนรู้เรื่องไม้ในงานก่อสร้างนั้น เราต้องทำความเข้าใจคำว่า “ไม้เนื้ออ่อน และ ไม้เนื้อแข็ง” (Softwoods & Hardwoods) เสียก่อน
ต้องเข้าใจว่าทั้งสองคำนี้ในภาษาวิชาการทางพฤกษศาสตร์ แบ่งโดยอ้างอิงมาจากสายพันธุ์ของไม้นั้นๆ ไม่ใช่เป็นการพิจารณาที่ความแข็งของเนื้อไม้ตามที่คนในวงการก่อสร้างเข้าใจ
ดังนั้นเรื่องไม้ในเวบนี้ จะขอพูดถึงไม้ในภาษาของคนในวงการก่อสร้างเท่านั้น คือแบ่งชนิดจาก “ชั้นคุณภาพ” ของไม้ ตามหลักเกณฑ์ของกรมป่าไม้ อ้างอิงหนังสือกรมป่าไม้ ที่ กส0702/6679
Link อ้างอิง (หลักเกณฑ์การแบ่งไม้เนื้ออ่อนไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้)
Link หนังสือ ไม้เนื้อแข็งของประเทศไทย จัดทำโดยกรมป่าไม้
ชั้นคุณภาพของไม้ จำแนกได้ดังนี้
1.ไม้เนื้อแข็ง
2.ไม้เนื้อแข็งปานกลาง
3.ไม้เนื้ออ่อน
โดยชั้นคุณภาพต่างๆ มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามตาราง
ชั้นคุณภาพ | ความแข็งแรง (กก./ตร.ซม.) | ความแข็งแรง (Mpa) | ความทนทานตามธรรมชาติ (ปี) |
ไม้เนื้อแข็ง | สูงกว่า 1,000 | สูงกว่า 98 | สูงกว่า 6 |
ไม้เนื้อแข็งปานกลาง | 600-1,000 | 59-98 | 2-6 |
ไม้เนื้ออ่อน | ต่ำกว่า 600 | ต่ำกว่า 59 | ต่ำกว่า 2 |
หมายเหตุ : ค่าความแข็งแรงที่กล่าวถึงนี้ เป็นความแข็งแรงของไม้แห้ง มีความชื้นประมาณ 10-14%
เมื่อเข้าใจเรื่องประเภทของไม้แล้ว ก็ไปทำความเข้าใจเรื่องการเลือกไม้ให้เหมาะสมกับงานก่อสร้างต่อไป เพื่อให้รู้ว่า ค่าความแข็งแรง และค่าความทนทานตามธรรมชาตินั้น เราจะรู้ไปเพื่ออะไร