
หลายครั้ง ที่เราพบว่างานออกแบบอาคาร เมื่อนำไปปักผังบนที่ดิน มักเจอปัญหาเรื่องที่ดินหน้างานจริงไม่ตรงกับแนวเขตที่ดินที่เราใช้ในการออกแบบ ยิ่งโครงการที่ออกแบบอาคารใกล้แนวเขตที่ดินมากๆแล้ว เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ อาจต้องแก้ไขแปลนกันใหม่ เสียทั้งเวลา และต้นทุนในการทำงานที่ต้องแก้ไขแบบ
แนวทางในการป้องกันปัญหาแบบนี้ ก็คือ ต้องใช้ข้อมูลที่ดิน ที่แม่นยำที่สุด มาเป็นข้อมูลในการออกแบบตั้งแต่ต้น
ซึ่งควรจะทำ Site Survey จากโฉนด ที่มีความถูกต้อง ตั้งแต่แรก (ปัจจุบันสามารถดูข้อมูลที่ดินรายแปลงได้จาก https://landsmaps.dol.go.th/ หากที่ดินของท่าน ข้อมูลไม่ตรงกับกรมที่ดิน ควรเข้าไปติดต่อขอแก้ไข)
โฉนดที่ถูกต้อง ก็นำไปทำ Site Survey ได้ถูกต้อง กลายเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์เพื่อไปทำงานออกแบบต่อไป
การสำรวจแผนที่ (Site Survey) จะเป็นจุดเริ่มต้นของงานทั้งหมด เพราะถ้าไม่ทราบขนาดที่แท้จริงของพื้นที่ก็จะไม่สามารถกำหนดขนาดของสิ่งปลูกสร้างได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ข้อมูลที่จะได้มา เมื่อทำ Site Survey
1. ขนาด และขอบเขต ของพื้นที่
2. รายละเอียดรอบด้านของพื้นที่โครงการเพื่อนำมาทำการกำหนดระยะร่นของสิ่งปลูกสร้าง เช่น
– ตำแหน่งระบบสาธารณูปโภค ระดับความลึก เพื่อออกแบบการเชื่อมต่อ
– ตำแหน่งต้นไม้
– ตำแหน่งอาคารเดิม
– ตำแหน่งและระดับถนนโดยรอบ
– ความสูงต่างความลาดชันของพื้นที่ สามารถนำมาคำนวณปริมาตรดินตัดหรือดินถม เป็นต้น
ข้อมูลที่ควรเตรียมให้กับทางบริษัทที่รับทำ Site Survey
1. ตำแหน่งที่ดิน จะเป็นพิกัด GPS หรือ แผนที่ก็ได้
2. สำเนาผังโฉนด เพื่อให้รู้ว่า ที่ดินโครงการ ประกอบด้วยที่ดินแปลงย่อย กี่แปลง และแต่ละแปลงมีพื้นที่เท่าไหร่ (ปัจจุบันสามารถดูจาก https://landsmaps.dol.go.th/ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดินเบื้องต้น)
3. หากทราบตำแหน่งหมุดที่ดิน ที่หน้างาน ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้นอีก
4. การใช้งานที่ดินปัจจุบันใช้ทำอะไรอยู่ จำเป็นต้องแจ้งเพื่อให้การวางแผนในการเข้าสำรวจ
ทั้งหมดนี้ หากข้อมูลครบ ก็จะทำให้การเสนอราคาการทำ Site Survey แม่นยำ และมี Scope งานที่ครบถ้วนนั่นเอง