1.อุณหภูมิสีของแสง
อุณหภูมิสีของแสง แบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ประกอบด้วย
Warm White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 3000 K
Cool White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 4000 K
Day Light มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 6500 K
วิธีจำคือ ค่า K ยิ่งต่ำ แสงจะยิ่งส้มมากขึ้น
กลุ่มงานออกแบบประเภท บ้าน ที่พักอาศัย โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร มักจะใช้ไฟ 3000 K
จะทำให้ดูอบอุ่น ให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้ดี
ในขณะเดียวกัน ยิ่งตัวเลขค่า k มากขึ้น แสงจะมีความขาวมากขึ้น
กลุ่มงานออกแบบประเภท ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน จะชอบใช้แสง ขาวออกไปทางฟ้า ประมาณ 6,000 K
โดยปัจจุบัน ออฟฟิศสมัยใหม่มักจะใช้ค่าแสงแบบกลางๆไม่ส้มไปไม่ฟ้าไปก็จะอยู่ที่ประมาณ 4,000 K รวมถึง ห้างสรรพสินค้าก็ปรับมาใช้แสง 4,000 K กันมากขึ้น เพราะว่ามันใกล้เคียงแสงธรรมชาติที่สุด
สมัยนี้เนี่ยการที่เราจะสเปคไฟแล้วบอกว่าเอาเป็นไฟ Warm White มันไม่ละเอียดพอเหตุผลเพราะว่า Warm White สมัยนี้มันก็มีหลายเฉด
3,000 K ก็เรียกไฟ Warm White ส่วน 2,500 K ก็เรียกไฟ Warm White เหมือนกัน แต่ความส้ม มันไม่เท่ากัน ดังนั้น การสเปก ควรจะระบุค่าอุณหภุมิสีลงไปเลย และดีที่สุดคือ การพาลูกค้าไปดู mockup ของจริงที่ Lighting Showroom
2.ค่าความถูกต้องของสี (CRI = Color Rendering Index)
เป็นการวัดความสามารถในการแสดงสีของวัตถุต่างๆ ได้อย่างเที่ยงตรงเมื่อเปรียบเทียบกับแสงธรรมชาติหรือแสงมาตรฐาน ค่า CRI มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดยค่า CRI 100 นั้นหมายถึงแหล่งกำเนิดแสงหรือหลอดไฟนั้น สามารถให้แสงที่ทำให้ตาเรามองเห็นสีวัตถุที่ส่องได้ “สมจริง” หรือ “เหมือนกับสีที่ถูกส่องโดยแสงพระอาทิตย์” (เหมือนธรรมชาติ)
ค่า CRI ของงานไฟส่องสว่างนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของแหล่งกำเนิดแสง โดยหลอดไฟที่มีค่า CRI สูง ได้แก่ หลอดไฟ LED หลอดไส้ หลอดฮาโลเจน เป็นต้น ในขณะที่หลอดไฟที่มีค่า CRI ต่ำ ได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดโซเดียม หลอดเมทัลฮาไลด์ เป็นต้น
ค่าที่ยอมรับได้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 80 โดยที่หลอดไฟส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะมีค่า CRI ประมาณ 80 แต่ว่าปัจจุบันมันก็มีหลอดไฟที่มีค่า CRI 90 เริ่มขายในท้องตลาดแล้ว ดังนั้นถ้าเราอยากให้งานออกแบบของเรา สีไม่เพี้ยนไปจากภาพจริงที่เราเห็น ก็ควรจะใช้หลอดที่มีค่า CRI มากที่สุด
หลอดไฟที่มีค่า CRI สูงๆเหมาะเอาไว้ใช้ตอนไหน
ถ้าสำหรับบ้านแล้ว เหมาะเอาไว้ใช้กับไฟที่ส่องภาพเขียนสวยๆ หรือ ของที่เจ้าของบ้านอยากโชว์เพราะว่ามันจะได้ แสง และสี ที่ ให้รายละเอียดได้ดีกว่า รูปฉ่ำกว่าพวกหลอดไฟทั่วๆไป
3.ลูเมน (Lumen) และ ลักซ์ (Lux) คืออะไร ?
ลูเมน (Lumen) คือ หน่วยวัดค่า “ความสว่าง” ของแหล่งกำเนิดแสง
ลักซ์ (Lux) คือ หน่วยวัดค่าความสว่างของแสง เมื่อตกกระทบบนพื้นผิว
การออกแบบ ต้องคำนึงถึง ค่าความสว่างบริเวณพื้นผิว เพราะในกฎหมาย มีกำหนดไว้ ว่าบริเวณที่ใช้งานนั้นๆ ต้องมีค่า Lux เท่าไหร่ ซึ่งจะต่างกันไปตาม function การใช้งาน
ส่วนลูเมน (Lumen) ใช้ดูว่าหลอด หรือโคมไฟ อันนั้น ให้ค่าความสว่างที่ตัวมันเองเท่าไหร่
สิ่งสำคัญที่มีผลกับงานออกแบบแสงสว่างมาก ก็คือ ระยะทาง เพราะระยะทางมาก ความสว่างจากหลอด ก็จะค่อยๆลดลง ยิ่งฝ้าสูง ความสว่างจากหลอด ตกมาถึงพื้นก็น้อยลง หากอยากให้พื้นสว่างก็ต้องเพิ่มจำนวนไฟ แต่พอเพิ่มจำนวนไฟแล้ว ไฟบนฝ้าจะสว่างมาก ทำให้ไม่สบายตา จึงต้องเลือกโคมที่มี Beam Angle น้อยๆ
เรื่อง Contrast ก้สำคัญ คือ เราจะไม่สบายตา ถ้า Contrast ต่างกัน 1:3 จะทำให้ตาล้า
4.ค่า IP (Ingress Protection)
IP คือค่ามาตรฐานการป้องกันทางกล (mechanical protection) เพื่อป้อง กันฝุ่นหรือของแข็งและน้ําที่จะผ่านเข้าสู่อุปกรณ์ต่างๆ และมีผลให้เกิดความเสียหาย แก่อุปกรณ์นั้นๆ
ที่ควรจะใช้ขั้นต่ำหรือ IP65 หรือ 67 แต่ถ้าเป็นพวกโคมอยู่ใต้น้ำให้ใช้ IP68
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ >> ค่า IP สำหรับงานโคมไฟ คืออะไร
5.ขั้วของหลอดไฟ
ขั้วแบบเกลียว ที่นิยมคือ E27 หาซื้อง่าย ใช้ง่าย แต่ว่าลักษณะของแสงจะเป็นการกระจายไปทั่ว ทำให้เราควบคุมแสงได้ไม่ดี เหมาะกับการใช้งานทั่วๆไป
ขั้วแบบเกลียว ที่นิยมคือ GU 10 ซึ่งข้อดีของมันคือ ไม่ต้องใช้ไดร์เวอร์ และมันหาซื้อได้ง่าย service เองได้ ปัจจุบันเริ่มมีองศาของแสงให้เลือกมากขึ้น ทำให้ในบ้าน 1 หลัง สามารถมีหลอดไฟที่มีหลายองศาของแสง ทำให้บ้านดูมีมิติมากขึ้น
เทคนิคการใส่ไฟบริเวณโถงสูง
ถ้าฝ้าสูงเกินไปหลอด GU10 ก็จะสว่างไม่พอ ต้องเพิ่มจำนวนหลอด ทำให้บนฝ้าจะมีโคมเยอะ ไม่สวย ควรจะใช้ หลอด COB ซึ่งความสว่างมากกว่า GU10 เกือบเท่าตัว
จำง่ายๆ ถ้าฝ้าไม่เกิน 3 เมตรจะใช้ E27 ก็ได้ จะใช้ GU10 ก็ได้ แต่ถ้าเกิน 3 เมตรไปแล้วก็ควรจะเป็นหลอด COB ที่ Dim ได้ด้วย เพราะว่าพอไฟอยู่สูง โอกาสที่ไฟจะแยงตาก็สูงตาม จึงต้องใช้การ Dim ช่วย